Toy Story 3
“Toy Story” ภาคแรกสร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในปี 1995 เมื่อมันกลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกที่ถูกสร้างขึ้นด้วย เทคโนโลยี CG ทั้งหมด มันเป็นหลักไมล์สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอนิเมชั่นเท่านั้น แต่สำหรับศิลปะการสร้างภาพยนตร์ด้วย
“Toy Story’ สร้างความประทับใจที่ล้ำค่ายิ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ครับ” ริช รอส ผู้อำนวยการ วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ กล่าว “มัน ถูกสร้างขึ้นด้วยจิตวิญญาณนักบุกเบิก อย่างที่เป็นพื้นฐานของสตูดิโอ การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องของเทคโนโลยี และที่สำคัญกว่านั้นคือการเล่าเรื่อง บัซ, วู้ดดี้ และของเล่นเอาชนะใจคนทุกเพศทุกวัยในทันที ด้วยการกระตุ้นความรักใคร่ เอ็นดูในแบบที่มีไว้ สำหรับตัวละครคลาสสิกอมตะของดิสนีย์เท่านั้น ‘Toy Story’ ได้ขยายขอบเขตผู้ชมหนังอนิเมชั่น และสร้างคำนิยามใหม่ให้กับกฎการสร้างหนัง พิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะสร้างหนังที่มีเสน่ห์ ในวงกว้างอย่างแท้จริง ในแง่นั้นแล้ว ‘Toy Story’ ได้กำหนดมาตรฐานให้กับหนังทุกเรื่อง ทั้งที่เป็น อนิเมชันและไลฟ์แอ็กชัน ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นครับ”
ตลอดงานอ นิเมชันที่น่าทึ่ง 77 นาที ช็อต 1,561 ช็อตและตัวละคร 76 ตัวที่มีทั้งมนุษย์ ของเล่นและสุนัข ถูกออกแบบด้วยมืออย่างประณีต ก่อนที่จะถูกสร้างและทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวในคอมพิวเตอร์ มันกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของปี 1995 ด้วยรายได้ในประเทศเกือบ 192 ล้านเหรียญและรายได้ทั่วโลก 362 ล้านเหรียญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลอคาเดมี อวอร์ดในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมและเพลงประกอบยอดเยี่ยม
จอห์น แลสซีเตอร์ก็ได้รับรางวัลสเปเชียล อชีฟเมนต์ อวอร์ด ออสการ์สำหรับ “ความเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม ‘Toy Story’ ของพิกซาร์ ซึ่งนำมาสู่ภาพยนตร์ซีจี อนิเมชันเรื่องแรก มันกลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ได้รับการ เสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม นอกจากนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์อเมริกันที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันอีกด้วย”
“ฉันจำได้ตอนที่เรา ส่ง ‘Toy Story’ ออกมาค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างดาร์ลา เค. แอนเดอร์สันบอก“สตีฟ จ็อบส์บอกว่ามันเป็น ‘Snow White’ ของเรา และเราก็คิดว่า ‘คงจะดีนะถ้า “Toy Story” สร้างชื่อได้แบบนั้นและเป็นหนังคลาสสิกแบบที่คนรู้สึกว่าเป็นของพวกเขา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา วัยเด็กของพวกเขา และชีวิตของครอบครัวพวกเขา’ นั่นเป็นความตั้งใจของเราในตอนนั้น และยังคงเป็นพันธกิจสำหรับหนังแต่ละเรื่องของเราในตอนนี้ค่ะ”
ในปี 1999 “Toy Story 2” (ภาพยนตร์เรื่องที่สามของพิกซาร์) กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้าง แก้ไขและถูกนำเสนอในรูปแบบดิจิตอลทั้งหมด ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้แซงหน้าภาคแรก และกลายเป็นซีเควลอนิเมชันเรื่องแรกที่ทำรายได้มากกว่าภาคแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมและได้รับการ เสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมและสองรางวัลลูกโลกทองคำและได้รับรางวัลลูก โลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทคอเมดีหรือมิวสิคัล ทั้ง “Toy Story” และ “Toy Story 2” ต่างก็เปิดตัวในรูปแบบ Disney Digital 3D™ แบบแพ็คคู่ในปี 2009
สำหรับ การเริ่มต้นงานสร้าง “Toy Story 3” พิกซาร์ได้รวบรวมทีมงานเดิมที่สร้าง “Toy Story” สองภาคแรกกลับมา ผู้ที่ร่วมงานกับผู้กำกับ
“ลี อังค์ริช” ใน ครั้งนี้คือ จอห์น แลสซีเตอร์, แอนดรูว์ สแตนตัน (ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ “Toy Story” และ “Toy Story 2” และได้เขียนบทและกำกับ “Finding Nemo” และ “WALL•E”), พีท ด็อคเตอร์ (ผู้กำกับ/มือเขียนบท “Monsters, Inc.” และ “Up”), ดาร์ลา เค. แอนเดอร์สัน, บ็อบ ปีเตอร์สันและเจฟฟ์ พิเจียน
อังค์ริช กล่าว “ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ มีซีเควลเพียงไม่กี่เรื่องที่ดีเท่าภาคแรก และเราก็นึกไม่ออก ว่ามีหนังเรื่องไหนที่มีภาคสามดีๆ บ้าง เรื่องเดียวที่เราคิดออกคือ ‘The Return of the King’ แต่นั่นก็เป็นเหมือนตอนที่ สามของเรื่องยาวเรื่องเดียวมากกว่า ตอนนั้นเองที่ผมปิ๊งไอเดียขึ้นมา เราต้องการให้ ‘Toy Story’ ทั้งสามภาค ให้ความรู้สึกเหมือน เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวยิ่งใหญ่ ความคิดนั้นกลายเป็นแรงขับสำหรับพวกเราในการสร้าง ‘Toy Story 3’ ครับ”
“เรารู้สึกมองโลกในแง่บวก เพราะแม้ว่าการสร้างซีเควลที่คู่ควรจะเป็นงานที่เหนื่อยแสนสาหัส แต่เราก็เป็นทีมงานสร้างเดิมกับที่สร้างสองภาคแรกขึ้นมา ในวันที่สองของการรวมตัวกัน เราคิดไอเดียของการที่แอนดี้โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ แล้วเราก็คิดไอเดียว่าวู้ดดี้และของเล่นชิ้นอื่นๆ จะไปลงเอยอยู่ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงคอนเซ็ปต์ของการที่บัซถูกเปลี่ยนไปเป็นโหมดเดโมด้วย แอนดรูว์ได้เขียนทรีทเมนต์ที่ทำให้ทุกคนตื่นเต้นขึ้นมา ตรงจุดนั้นเองที่ไมเคิล อาร์นกับผมเริ่มลงมือเขียนเรื่องราวขึ้นมาครับ” อังค์ริช กล่าว
อังค์ริช ได้เล่าถึงการที่พล็อตสำคัญ ของการโยนถุงของเล่นทิ้งไปตรงกับเรื่องของครอบครัวเขา “ก่อนหน้าที่เราจะมีลูก ผมกับภรรยาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่เวสต์ ฮอลลีวูด และเราก็ย้ายไปพาซาเดนากัน เราต้องทำการขนย้ายด้วยตัวเอง แพ็คของของเราเอง และยัดของที่เราไม่ต้องการแล้วใส่ถุงขยะ ผมมีหน้าที่แบกถุงขยะไปไว้ที่ที่ทิ้งขยะด้านหลังตึก ซึ่งรวมถึงถุงขนาดใหญ่ใบหนึ่งด้วย สองสามสัปดาห์ให้หลัง ขณะที่เรากำลังทำความคุ้นเคยกับบ้านใหม่ของเรา ภรรยาผมก็ถามผมว่าผมเห็นตุ๊กตาสัตว์ของเธอไหม เธอไม่เจอตุ๊กตาสัตว์จากสมัยเด็กของเธอ ที่เธอเก็บมาหลายปีแล้วเลย ผมก็ถามเธอว่าพวกมันอยู่ในกล่องใบไหน เธอก็บอกว่ามันไม่ได้อยู่ในกล่อง แต่อยู่ในถุงขยะขนาดใหญ่ ผมรู้สึกเย็นวาบในท้องเพราะผมรู้ทันทีเลยว่าเกิดอะไรขึ้น และผมก็ต้องคิดหาวิธีที่จะสารภาพความจริงกับเธอ ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเธอต้องใส่มันในถุงขยะ และเธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผมไม่ดูก่อนว่าผมโยนอะไรทิ้งไป ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เธอก็ยังคงไม่ยอมให้ผมลืมไปว่าผมเป็นคนทิ้งตุ๊กตาที่เธอรักไป ผมก็เลยคิดว่าช่วงเวลานั้นใน ‘Toy Story 3’ ตอนที่แม่ของแอนดี้ลากถุงขยะไปตามพื้นจะเป็นการจารึกความทรงจำของของเล่นของ ภรรยาผม และการสละชีพของพวกมันไม่ได้สูญเปล่าในรูปแบบนี้ครับ”
“อะไร ก็ตามที่กีดกันไม่ให้ของเล่นได้เล่นกับเด็กๆ ทำให้พวกเขาวิตกกังวลครับ และ ‘Toy Story’ แต่ละภาคก็จะพูดถึงความกังวลเหล่านั้น ในภาคแรก วู้ดดี้ต้องกังวลกับการที่จะโดนแทนที่ด้วยของเล่นใหม่ ของเล่นมักจะกังวลถึงวันสองวันมากกว่าวันอื่นๆ ในรอบปี ซึ่งก็คือคริสต์มาสกับวันเกิดของเด็ก ใน ‘Toy Story 2’ ต้องรับมือกับการที่จะโดนดึงทึ้ง พังและไม่มีใครเล่นด้วยเพราะพวกเขาเปราะบาง วู้ดดี้ต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกของการมีสภาพสมบูรณ์ แต่จะไม่มีใครรักอีกเลย มันเป็นเรื่องลึกซึ้งครับ และในภาคสาม เราก็ต้องรับมือกับช่วงเวลาที่ของเล่นกังวลมากที่สุด นั่นคือการที่เด็กคนนั้นเติบโตขึ้น ตอนที่คุณพัง คุณถูกซ่อมได้ ตอนที่คุณหายไป คุณถูกหาตัวจนพบได้ ตอนที่คุณถูกขโมย คุณถูกตามตัวกลับมาได้ แต่ไม่มีอะไรที่แก้ไขการที่เด็กคนนั้นโตเกินของเล่นได้ มันเป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวครับ”แลสซีเตอร์ กล่าว
12 สิงหาคมนี้ เพลิดเพลินไป กับ “Toy Story 3″ ในโรงภาพยนตร์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น