จากการสำรวจ พบว่าทั่วโลกมีภาษาแตกต่างกันถึง ๕,๐๐๐ ภาษา ภาษาที่ใช้กัน มากที่สุดในโลกคือ ภาษาจีน มีคนพูดภาษานี้ ถึงพันล้านคนเศษ รองลงมาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฮินดี
ที่ปาปัวนิวกินีประเทศเดียว มีภาษาพื้นเมือง อยู่ประมาณ ๗๐๐ ภาษา ในประเทศอินเดีย มีภาษาแตกต่างกัน อย่างน้อย ๘๔๕ ภาษา เฉพาะที่รัฐอัสสัม ซึ่งอยู่ทาง ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ก็มีภาษาพูด นับร้อยภาษาแล้ว
เคยรู้มาว่า มีผู้พยายาม สร้างภาษาโลก (world language) ที่คนทั้งโลก สามารถสื่อสารกันได้ โดยไม่ต้องมี กำแพงภาษา นั่นคือ ภาษาเอสเปรันโต (Esperanto) ผู้คิดค้นคือ นักภาษาศาสตร์ และแพทย์ชาวรัสเซีย ชื่อ ดร. แอล. ซาเมนฮอปแต่ความตั้งใจของเขา ไม่บรรลุผล
ประวัติภาษาเอสเปรันโต (Esperanto)
ภาษาเอสเปรันโต (Esperanto) เป็นภาษาประดิษฐ์ที่ใช้กันมากที่สุดในโลก คิดค้นโดย แอล.แอล. ซาเมนฮอฟ นามปากกาของจักษุแพทย์ชาวรัสเซีย (ในช่วงที่รัสเซียปกครองโปแลนด์ โดยมีพ่อแม่เป็นชาวยิว) โดยต้องการให้ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาที่เรียนง่าย และเป็นภาษาที่สองสำหรับนานาประเทศ ชื่อเอสเปรันโตมาจากชื่อแฝงเรียก ดร. เอสเปรันโต ในช่วงที่เขียนหนังสือเรื่องภาษานานาชาติ
ถึงแม้ว่า ภาษาเอสเปรันโตยังไม่มีประเทศใดนำไปเป็นภาษาทางการ ในปัจจุบัน มีผู้ใช้งานประมาณ 1 แสนถึง 2 ล้านคน ซึ่งมีให้เห็นในคู่มือท่องเที่ยว คู่มือการเรียนการสอน ทางโทรทัศน์ วรรณกรรม การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และในบางโรงเรียนมีการเรียนวิชาเลือกเป็นภาษาเอสเปรันโต วันที่ 15 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันฉลองของภาษาเอสเปรันโต ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของซาเมนโฮฟ ซึ่งในวันนี้ผู้ใช้ภาษาเอสเปรันโตจะรวมตัวกันในฤดูหนาว และเลี้ยงฉลองกัน โดยบางคนจะซื้อหนังสือภาษาเอสเปรันโตเล่มใหม่ในวันนี้
ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาเดียวที่มีธงประจำภาษา โดยทั่วไปแล้วภาษาอื่นๆ จะไม่ใช้ธงชาติมาเป็นธงประจำภาษา เนื่องจากชาติหรือประเทศหนึ่งอาจมีได้หลายภาษา และภาษาหนึ่งอาจพูดในหลายชาติหรือประเทศ ธงประจำภาษาเอสเปรันโต พื้นธงเป็นสีเขียว มีรูปดาวสีเขียวบนพื้นที่สีเหลี่ยมสีขาวอยู่มุมบนซ้าย นอกจากธงแล้วยังมีเพลงประจำภาษาเอสเปรันโตอีกด้วย ชื่อเพลงว่า La Espero แปลว่า ความหวัง ซึ่งมีชื่อเหมือนกับเพลงชาติของอิสราเอล
เอสเปรันโตคิดค้นขึ้นช่วงปลาย คริสต์ทศวรรษ 1870 และต้น คริสต์ทศวรรษ 1880 โดย แอล.แอล. ซาเมนฮอฟ ในช่วงเวลาพัฒนา 10 ปีนั้น ซาเมนฮอฟได้ใช้เวลาในการแปลวรรณกรรมต่างๆ มาเป็นภาษาเอสเปรันโต รวมทั้งการเขียนและพัฒนาหลักไวยกรณ์ต่างๆของภาษา โดยหนังสือไวยกรณ์เล่มแรกในภาษาเอสเปรันโต ชื่อ อูนูอาลิโบร (Unua Libro ความหมายในภาษาเอสเปรันโตว่า หนังสือเล่มแรก) ตีพิมพ์ที่ วอร์ซอว์ ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2430 ซึ่งหลังจากนั้นจำนวนผู้ใช้ภาษาเติบโตขึ้นอย่างรวเร็วภายใน 20 ปีต่อมา โดยเริ่มต้นจากจักวรรดิรัสเซีย และ ยุโรปตะวันออก และได้เข้าสู่ ยุโรปตะวันตก อเมริกา ประเทศจีน และ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 การประชุมเอสเปรันโตโลก ได้จัดตั้งขึ้น โดยจัดครั้งแรกที่เมือง บูลอน ซู แมร์ (Boulogne-sur-Mer) ในประเทศฝรั่งเศส และหลังจากนั้นมีการจัดประชุมกันทุกปี (ยกเว้นช่วงสงครามโลก) โดยเปลี่ยนสถานที่จัดไปทั่วโลก
ในปัจจุบันภาษาเอสเปรันโตไม่ได้เป็นภาษาทางการของประเทศ ใด แต่ได้มีการเรียนการสอนในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 บริเวณฉนวนโมเรสเนต (Neutral Moresnet, 2359-2462) ได้ถือว่าเป็นรัฐแรกที่ใช้ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาทางการ ในปี พ.ศ. 2511 สาธารณรัฐโรสไอส์แลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งอิตาลี ประมาณ 11 กม. ได้ประกาศตั้งตัวเป็นประเทศเอกราช และได้ใช้ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาทางการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรสไอแลนด์ ไม่ถือว่าเป็นประเทศจากชาติอื่น ในปี พ.ศ. 2454 ระหว่างช่วงการปฏิวัติซินไฮ้ ในประเทศจีน ได้มีนโยบายในการเปลี่ยนภาษาทางการจากภาษาจีน เป็นภาษาเอสเปรันโต ด้วยเหตุผลที่ว่าให้ประเทศเป็นสากล แต่ได้ถูกยกเลิกไป ในปี พ.ศ. 2467 ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการใช้ภาษาเอสเปรันโตสำหรับวิทยุสื่อสาร โดยคาดหวังว่าจะใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่สุดท้ายไม่ได้รับการนิยมและได้ยกเลิกไป
การศึกษา ภาษาเอสเปรันโต
ในปัจจุบันมีอยู่บางโรงเรียนที่มีการสอนภาษาเอสเปรันโต มีมากใน จีน ฮังการี และ บัลแกเรีย นอกจากนี้คนส่วนมากเรียนรู้ภาษา โดยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมีการสอนโดยอาสาสมัครต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่นเว็บไซต์ lernu!
นักวิจัยหลายท่านได้ศึกษาว่าการเรียนรู้ภาษาเอสเปรันโต ช่วยให้ผู้ที่ใช้ภาษาในภาษากลุ่มอินโดยูโรเปียน (เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน) เรียนภาษาอื่นๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจเนื่องมาจาก รูปแบบของภาษา ไวยากรณ์ และคำศัพท์ต่างๆ การวิจัยพบว่า เปรียบเทียบกลุ่มนักเรียน 2 กลุ่ม โดย กลุ่มแรก เรียนภาษาเอสเปรันโต 1 ปี และภาษาฝรั่งเศส 3 ปี กับกลุ่มที่สอง เรียนภาษาฝรั่งเศส 4 ปี ผลออกมาว่า กลุ่มแรกสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง ที่เรียนภาษาฝรั่งเศสมากกว่าหนึ่งปี