จี้เส้นจุดเริ่มต้น
การหัวเราะเป็นกิจกรรมทาง สังคม "เสียงหัวเราะเป็นเสมือนสัญญาณส่งผ่านไปยังผู้อื่น และถ้าคนเราอยู่เพียงลำพัง เสียงหัวเราะนั้นก็มลายหายไป" โรเบิร์ต โพรวีน นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ผู้แต่งหนังสือ Laughter : A scientific investigation กล่าว และเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำการศึกษาอย่างจริงจังในการ ค้นหาว่าอะไรทำให้มนุษย์เราหัวเราะ โพรวีนพบว่า โดยทั่วไปแล้วเสียงหัวเราะเกิดจากการตอบสนองอย่างสุภาพต่อเรื่องที่คนเราพูด คุยกันทั่วไป อย่างเช่น "มันต้อง เกิดขึ้นแน่" มากกว่าเรื่องตลกอื่นๆ จากการสังเกตของคณะศึกษาอีกกลุ่มก็พบว่า เสียงหัวเราะทำหน้าที่เสมือนเป็นกาวสมานทางสังคม อย่างเด็กทารกจะเริ่มขำเมื่อมีอายุได้ประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มจะแยกแยะและจดจำใบหน้าของแต่ละคนได้และวิธีที่คน เราหัวเราะก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่เราอยู่ด้วย อย่างพวกผู้ชายมักจะหัวเราะยาวๆ ดังๆ เมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนผู้ชายด้วยกัน บางทีการหัวเราะแบบนี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะหัวเราะเสียงแหลม และหัวเราะบ่อยขึ้นเมื่ออยู่ต่อหน้าเพศตรงข้าม ซึ่งอาจแสดงถึงความสนใจต่อเพศตรงข้าม หรือแสดงการยอมรับในอำนาจของอีกฝ่าย
หัวเราะดีต่อสุขภาพ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ถ้าเรานำเสียงหัวเราะมาสังเคราะห์เป็นยาได้ เราคงจะมียาวิเศษที่สามารถรักษาโรคทุกชนิดได้ตั้งแต่โรคซึมเศร้า ไปจนถึงโรคหัวใจเลยทีเดียว การหัวเราะทำให้อวัยวะทุกส่วนตั้งแต่หัวใจ ปอด กล้ามเนื้อ สมอง ไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างดี การหัวเราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของคนเราได้ 2 ทางคือ ทางแรก เพิ่มระดับความ เข้มข้นของแอนติบอดี้ที่เป็นภูมิคุ้มกันหมุนเวียนในกระแสเลือด ส่วนที่สอง เป็นการเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นตัวกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้ามาในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทั้งสองแบบนี้ จะช่วยทำให้เรามีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ มากขึ้นนั่นเอง
ในอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีกหลายประเทศ การรักษาผู้ป่วยด้วยการหัวเราะกำลังเข้ามามีบทบาทแทนที่การบำบัดด้วยการใช้ ยาคลายเครียด และยาแก้ปวด เพราะอารมณ์ขันให้ผลเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย เป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนฝ่ายดี เช่นฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยระงับความเจ็บปวด และ Neurotransmitter เช่น ฮอร์โมนเซโรโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เราอารมณ์ดี ขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง
อาชีพเสี่ยงเครียด
ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ประธานคณะกรรมการตัดสินการประชันที่สุดของเสียงหัวเราะ ที่จัดโดยพิพิธภัณฑ์ริบลี่ส์ ได้บอกเล่าถึงผลดีผลเสียของการหัวเราะอย่างถูกวิธีว่า
"กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามักจะเป็นนักบริหาร นักวิชาการ และแพทย์ เนื่องจากงานที่ทำอยู่มีภาวะความกดดันสูง ไม่มีเวลาในการบริหารทั้งสุขภาพกายและใจ ส่งผลให้ร่างกาย จิตใจ ไม่มีการขับเคลื่อน การดำเนินชีวิตไม่มีความผ่อนคลาย จากการวิจัยยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้ประกอบอาชีพนักบัญชี และวิศวกร เป็นอีกกลุ่มอาชีพที่ประสบปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และเป็นกลุ่มที่หาสามีหาภรรยาได้ยาก เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักมองสิ่งต่างๆ ตามแบบวิธีของตรรกศาสตร์ มองข้ามด้านของความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ"
สำหรับกลุ่มอาชีพที่สุขภาพจิตดี หัวเราะง่าย เป็นกลุ่มอาชีพบริการ ต้องพบปะผู้คน มีการติดต่อสื่อสารอยู่สม่ำเสมอ เช่น นักประชาสัมพันธ์ เนื่องจากต้องมีการพูดคุย บริการผู้อื่นให้เกิดความประทับใจ ส่วนกลุ่มที่มีความสุขอย่างแท้จริงกับกาหหัวเราะนั้น มักเป็นพวกวัยรุ่นที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการทำงาน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า เพศหญิงสามารถหัวเราะง่ายกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิง เป็นเพศที่มีความไวต่อความรู้สึก อารมณ์อ่อนไหว เพศชายจะเน้นหนักไปในเรื่องของเหตุผลเป็นหลัก นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เพศชายมีอายุไขสั้นกว่าเพศหญิง
คนอารมณ์ดีและประสบความสำเร็จ
ส่วนใหญ่จะเป็น คนที่มีอารมณ์ขันเหลือเฟือ เพราะการหัวเราะอย่างสุดเสียงด้วยหัวใจที่สดใส นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นสารเคมีแห่งความสุขให้กับสมองอีกด้วย นอกจากนี้เสียงหัวเราะยังช่วยลดความเครียดและความแปลกแยกระหว่างบุคคลกับคน อื่นได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น วันนี้ คุณหัวเราะแล้วหรือยัง!