วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จะเก็บฟันคุดไว้หรือเอาออกดี

ปกติแล้วเราจะมีฟันแท้ 32 ซี่ ฟันบนซ้ายขวา ข้างละ 8 ซี่ ข้างล่างก็เช่นกัน ซ้ายขวาข้างละ 8 ซี่ รวมแล้ว 32 ซี่ ทีนี้ส่วนใหญ่จะได้ไม่คบ 32 เพราะซี่สุดท้ายมักไม่ขึ้นหรือขึ้นมา เฉียงๆ เอียงๆ ติดฟันข้างเคียง ฟันที่ขึ้นมาไม่ได้ ฝังอยู่ในขากรรไกร เราเรียกว่า ฟันคุด ทันตแพทย์จะแนะนำ ให้ถอนฟันคุดออก เพราะการปล่อยทิ้งไว้มีผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งอาจสร้างปัญหาได้ ดังนี้

ฟัน ฟันคุด ปวดฟัน ถอนฟัน

มีอาการปวด เพราะตัวฟันคุดเองมีแรงผลักเพื่อจะงอกขึ้นมาในขากรรไกร แต่ถูกกันหรือติดโดยฟันข้างเคียง ทำให้มีแรงย้อนกลับไปกดที่เส้นประสาทของขากรรไกร อาการปวดมีตั้งแต่ทนได้จนกระทั่งปวดมาก ในบางครั้งอาจมีอาการปวดแบบส่งต่อหลังจากตำแหน่งฟันคุดไปยังบริเวณอื่นของใบ หน้า เช่น ปวดหน้าหู ปวดตา ปวดศีรษะ เป็นต้น

ฟันคุดทำให้ฟันเก แรงดันของฟันคุด มากพอที่จะผลักให้ฟันข้างเคียงรับกระทบต่อๆ กันไปจนฟันบิดซ้อนกันได้ ในการจัดฟันทันตแพทย์มักแนะนำให้ถอนฟันคุดออกก่อนใส่เครื่องมือ

ฟันคุดทำให้ฟันผุ ฟันคุดเป็นที่กักเศษอาหาร ทำความสะอาดยากเพราะอยู่ลึกใกล้ลำคอ การที่มีเศษอาหารสะสมอยู่บริเวณนั้นนานๆ ก็ทำให้ฟันผุง่ายโดยปกติถ้าฟันคุดผุไม่เป็นไร เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเอาออกอยู่แล้ว แต่หลายคนมาพบทันตแพทย์มักจะมีฟันที่ดีๆ ข้างเคียงผุด้วยจนไม่สามารถรักษาได้ ทั้งอาจจะต้องถอนพร้อมฟันคุดอย่างน่าเสียดาย

ฟันคุดทำให้เหงือกอักเสบ ก็เช่นกันเศษอาหารที่ค้างอยู่ใต้เหงือกที่คลุมฟันอยู่นั้นเป็นแหล่งสะสมของ แบคทีเรียที่ยากทำความสะอาดได้หมดจด ซึ่งง่ายต่อการเกิดเหงือกอักเสบและบวม

ฟันคุดทำให้ติดเชื้อ เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะการติดเชื้อจากฟันคุด มันทำให้ขากรรไกรบวม ถ้าเป็นรุนแรง อ้าปากไม่ขึ้นกลืนไม่ได้ ลุกลามลงคอ พาลหายใจไม่ได้เอา ถึงขนาดต้องนอนโรงพยาบาล รักษาอย่างเร่งด่วนกันเลย

ฟันคุดมีโอกาสทำให้เกิดถุงน้ำ (CYST) ซึ่งจะขยายอยู่ใน กระดูกขากรรไกร หากไม่เคยได้รับการตรวจฟัน มักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียงหรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง การที่มี cyst อยู่ในขากรรไกรก็เหมือนกับลูกโป่งที่มันจะค่อยๆ พองใหญ่ขึ้นเบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อยๆ ถ้าพบเข้าและรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว การสูญเสียอวัยวะ ขากรรไกรก็น้อย ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้า cyst ใหญ่มากๆ ก็อาจถึงขนาดต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออก การรักษารูปใบหน้าให้เหมือนเดิมก็ทำได้ยากขึ้นโดยเฉพาะกรณีที่ cyst นั้นเปลี่ยนไปเป็นเนื้องอกบางชนิด

จะเห็นได้ว่าการเก็บฟันคุดไม่มีผลดีเลย ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกิดอันตรายกับสุขภาพปากของคนเราหลายด้าน จึงควรผ่าเอาออก... ผลดีมีมากกว่าจริงๆ ค่ะ

ฟันคุด....คืออะไร ฟันคุด คือฟันที่ ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 - 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย

จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด จากการตรวจในช่องปาก ถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง การเอกซเรย์ฟิล์มพานอรามิกจะเห็นฟันทั้งหมดในกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง รวมถึงพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกร

ทำไมถึงต้องผ่าฟันคุด การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่

1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่

3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่ พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป

4. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น

5. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย 6. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่ สาม ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่น ๆ

ขั้นตอนการผ่าฟันคุดมีอะไรบ้าง น่ากลัวอย่างที่เขาบอกกันหรือเปล่า การผ่าตัดฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน แล้วใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา ล้างทำความสะอาดและเย็บแผลปิด เท่านี้ก็เสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

หลังผ่าตัดฟันคุดแล้วจะมีอาการอะไรบ้าง จะพูดหรือรับประทานอาหารได้ไหม อาการที่พบได้หลังการผ่าตัดฟันคุดคือ จะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำผ่าตัดสัก 2 - 3 วัน อ้าปากได้น้อยลง ทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะที่ได้รับไปอาการก็จะบรรเทาลงได้ เรื่องอาหารคงต้องทานอาหารอ่อนไปก่อนสักระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล ส่วนการพูดก็พูดได้ตามปกติ แต่อย่าพูดมากนักเดี๋ยวจะเจ็บแผลได้

หลังผ่าตัดฟันคุดจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง คำ แนะนำหลังการผ่าตัดฟันคุดมีดังนี้

1. กัดผ้าก๊อซนาน 1 ชั่วโมง กลืนน้ำลายตามปกติ

2. ห้ามบ้วนเลือดและน้ำลาย เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้

3. หลังคายผ้าก๊อซแล้ว ถ้ามีเลือดซึมจากแผลผ่าตัด ให้ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่อีกประมาณ ½ ชั่วโมง

4. ประคบน้ำแข็งบริเวณแก้ม เฉพาะวันที่ทำผ่าตัด

5. รับประทานอาหารอ่อน

6. รับประทานยาให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง

7. งดออกกำลังกาย หรือ เล่นกีฬา

8. แปรงฟันทำความสะอาดในช่องปากตามปกติ

9. ตัดไหมหลังผ่าตัด 7 วัน

10.หากมีปัญหาหรือผลแทรกซ้อนเกิดขึ้น กลับมาพบทันตแพทย์ได้ก่อนวันนัด

การผ่าตัดฟันคุดมีอันตรายหรือผลแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง ผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดฟันคุดที่พบได้ เช่น หลังคายผ้าก๊อซแล้วยังมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ มีไข้หรือมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด หลังผ่าตัด 2 - 3 วันแล้วอาการปวดบวมยังไม่ทุเลา แต่กลับมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือมีอาการชาของริมฝีปากล่างนานผิดปกติทั้งที่หมดฤทธิ์ชองยาชาแล้ว ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อหาทางแก้ไข แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ไม่ต้องกังวลจนกลัวแล้วไม่ยอมไปผ่าตัดฟันคุด เพราะถ้าเก็บฟันคุดไว้กลับจะมีอันตรายมากยิ่งกว่าเสียอีกถ้าอย่างนี้แล้วจะ ป้องกันอันตรายจากฟันคุดได้อย่างไร อันนี้ไม่ยากเพียงแค่ท่านไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ฟันก็จะทราบว่า มีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยผ่าฟันคุดออกเสียก่อนที่จะมีอาการปวดบวม หรือทำให้ฟันข้างเคียงมีปัญหา การผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย (18 - 25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำ เพราะฉะนั้นมีฟันคุดแล้วอย่ารั้งรอ รีบผ่าตัดออกเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดผลเสียในภายหลัง

ที่มา เรียบเรียง : ทีม content www.thaihealth.or.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

+++ Hamster +++

+++ Playlist +++


MusicPlaylistRingtones
Create a playlist at MixPod.com

+++ coming soon +++